ถึงในด้านเทคโนโลยีเราจะมาไกลกันมากและเราก็ก้าวไปข้างหน้าอย่างรวดเร็ว อย่างไรก็ตามไม่ใช่งานทุกอย่างจะถูกทดแทนได้ง่าย ๆ และไม่ใช่งานทุกอย่างที่มีความต้องการที่จะทำระบบอัตโนมัติมาทดแทน

เพราะฉะนั้นเวลาพิจารณาเราก็จะพิจารณาอยู่ 2 อย่าง

  1. จะทดแทนงานนี้ทำง่ายขนาดไหนในมุมของเทคโนโลยี?
  2. มีความจำเป็นมั้ยที่ต้องทดแทนงานนี้?

การสร้างระบบอัตโนมัติต้องใช้เงินและการลงทุนจำนวนมาก เพราะฉะนั้นผู้ที่ลงทุนก็ต้องการความมั่นใจว่างานที่เขากำลังจะสร้างระบบนั้น มีมูลค่าคุ้มค่ากับการลงทุนของเค้านั่นเอง

Andrew Ng (นักวิจัยด้าน AI) ให้ข้อสังเกตง่าย ๆ ว่า:

อะไรที่เราสามารถทำได้ด้วยการคิดน้อยกว่า 1 วินาที ก็น่าจะสามารถแทนด้วยระบบอัตโนมัติได้

Anything a typical person can do in less than a second of thinking … we can now or soon automate

ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดคือ “การขับรถ” เราคงไม่ใช้เวลาคิดมากกว่า 1 วินาทีแน่ ๆ (ไม่งั้นก็คงชนแล้ว) นั่นก็แปลว่ามันไม่ใช่งานที่ซับซ้อนมาก และมีโอกาสถูกแทนด้วยระบบอัตโนมัติได้ แต่นั่นก็ยังไม่พอ! คำถามต่อมาคือ “มันคุ้มหรือเปล่า?” ที่จะต้องสร้างระบบอัตโนมัติมาทดแทน คำตอบก็คือ “คุ้มมาก ๆ” ทั้งในแง่ความปลอดภัย ซึ่งจะช่วยลดอุบัติเหตุบนท้องถนนได้ ในแง่ประสิทธิภาพ ซึ่งจะช่วยให้รถติดน้อยลง และในแง่ต้นทุน ถ้าไม่ต้องจ้างคนมาขับรถการขนส่งจะต้นทุนถูกลงมากเช่นกัน เพราะฉะนั้นทั้งในความเป็นไปได้และความน่าจะเป็น ทำให้ “การชับรถ” จะถูกทดแทนด้วยระบบอัตโนมัติแน่นอน

ถ้าเราลองไปพิจารณางานต่าง ๆ ในบริษัท ก็อาจจะเห็นด้วยตัวเองว่ามันน่าจะยังมีงานอีกมากมายจริง ๆ และที่น่าสนใจคือ งานหลาย ๆ อย่างในนั้นมันไม่ได้ต้องใช้ระบบอะไรที่ซับซ้อนเลย ไม่ได้ยากอย่างการขับรถด้วยซ้ำ

ลองนึกถึงอนาคตอันใกล้ที่สังคมเราจะกลายเป็นสังคมไร้เงินสดงานอะไรบ้างที่จะได้รับผลกระทบ งานอะไรบ้างที่จะใช้ระบบอัตโนมัติมาแทนได้?

สิ่งที่ตามมาของสังคมไร้เงินสดก็คือ เงินเข้า เงินออก ถูกบันทึกในคอมพิวเตอร์หมด และถ้าข้อมูลพวกนี้อยู่บนคอมพิวเตอร์ จะคำนวณรายได้ กำไร ขาดทุนก็ แค่ใช้ฝีมือ Excel เท่านั้น (ดีไม่ดีธนาคารต่าง ๆ จะมาช่วยเราจัดการเรื่องพวกนี้ให้หมด) การจ่ายคำนวณจ่ายภาษี รวมทั้งงานตรวจสอบบัญชีพื้นฐานก็สามารถใช้ระบบอัตโนมัติได้

แต่มันก็ไม่ได้หยุดที่ตรงนี้ ในอนาคตไม่ใช่แค่การจ่ายเงินรับเงินเท่านั้นที่จะเกิดขึ้นบนคอมพิวเตอร์ นึกถึงถ้า “สัญญา” ต่าง ๆ เอกสารต่าง ๆ ก็เกิดขึ้นบนคอมพิวเตอร์ด้วย ทีนี้อะไรบ้างจะเกิดขึ้น? งานอะไรบ้างที่เราต้องทำแค่เพื่อให้สองฝ่ายสามารถคุยกันได้ ผมกำลังนึกถึงงานธุรการต่าง ๆ ที่จะหายไป

(ผมคิดว่าเป็นโอกาสทางธุรกิจที่ดีมาก ๆ สำหรับธนาคารต่าง ๆ ที่จะมาทำกิจการตรงนี้ คือเป็น automated back-office ให้กับทุก ๆ บริษัท ทำงานธุรการให้กับทุก ๆ บริษัทโดยอาศัยเทคโนโลยีอัตโนมัติที่ตัวเองพัฒนาขึ้น บวกกับความน่าเชื่อถือที่ตัวเองมีอยู่แล้ว)

สำหรับหลาย ๆ อาชีพเทคโนโลยีอัตโนมัติจะมาในรูปแบบของ “ผู้ช่วย” ก่อนที่มันจะเข้ามา “ทดแทน” ซึ่งก็เกิดขึ้นบ้างแล้ว เช่น แพทย์ ระบบอัตโนมัติเข้ามาช่วยในการวินิจฉัยโรคจำเพาะต่าง ๆ ได้ระดับหนึ่งแล้ว เราไม่ทราบว่าระบบอัตโนมัติระเข้ามาแทนเมื่อไหร่ แต่ว่าความต้องการของระบบอัตโนมัติในสายงานแพทย์นี้มีมาก เพราะอย่างไรก็ตามเราก็ยัง “ขาดแคลน” บุคลากรทางการแพทย์อยู่ คงมีคนจำนวนไม่น้อยที่จะมีชีวิตที่ดีขึ้นจากการมาของ “หุ่นยนต์หมอ”

ลองมานึกถึงงานที่อาจจะทดแทนได้ยากขึ้นด้วยระบบอัตโนมัติบ้าง ซึ่งผมก็คิดว่าถ้าไม่ใช่งานที่สร้างสรรค์มาก ๆ ไปเลย (คือคิดนาน ๆ ) ก็เป็นงานที่ต้องคุยกับคน หรืองานพวกให้บริการไปเลย

ในด้านงานที่สร้างสรรค์มาก ๆ อะไรที่อาศัยการคิดนอกกรอบ การผนวกไอเดียจากหลาย ๆ สาขา พวกนี้คอมพิวเตอร์ไม่ใกล้ที่จะทำได้เลย แต่ว่าถ้าความรู้แคบ ๆ ที่มีและทำให้สิ่งที่มีอยู่แล้วดีขึ้นด้วยความรู้เท่านั้น คอมพิวเตอร์ทำได้ เพราะฉะนั้นการทำงานด้านวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีไม่ได้แปลว่าปลอดภัยเสมอไป หากเราไม่ได้สร้างมูลค่าจากไอเดียใหม่ ๆ

ในด้านงานบริการ ซึ่งให้คุณค่ากับการเอาใจใส่คน ก็มีแค่คนที่แหละที่ทำสิ่งนี้ได้ดีที่สุด ไม่ใช่ว่าคอมพิวเตอร์จะไม่มีวันทำได้ แค่ไม่ใช่วันนี้ ไม่ใช่พรุ่งนี้ คอมพิวเตอร์ต้องเรียนรู้อีกมากเพื่อจะเข้าใจคน และเอาใจใส่คน แต่นี่ก็ไม่ได้รวมถึงงานบริการทุกอย่าง ก็เพราะว่าไม่ใช่ทุกงานบริการให้คุณค่ากับการเอาใจใส่คน โดยส่วนตัวก็ไม่สนใจว่า “บาริสต้า” ต้องเป็นคน จริง ๆ ถ้าหุ่นยนต์สามารถชงกาแฟได้อร่อยเท่ากันในราคาที่ถูกกว่าก็ยินดีที่จะใช้บริการเช่นกัน

แล้วเราควรจะทำตัวยังไงดี ?

สำหรับเด็กรุ่นใหม่ ผมคิดว่าทุกคนควรได้รับการศึกษาด้านเทคโนโลยีให้มาก เพราะนั่นคือโลกที่เค้าจะเข้าไปมีชีวิตอยู่ ไม่ว่าเค้าจะอยู่ในฐานะผู้สร้างหรือผู้ใช้เทคโนโลยีเค้าก็ต้องรู้จักมันเป็นอย่างดี นึกถึงเด็กที่ไม่มี smart phone ไม่มีคอมพิวเตอร์ใช้งาน โลกของเขาจะช้ากว่าคนเด็กคนอื่น ๆ ที่มีีของพวกนี้ขนาดไหน?

ผมคิดว่าในฐานะพ่อแม่ก็ควรจะศึกษาสายงายต่าง ๆ ที่อาจจะได้รับผลกระทบในอนาคต เพื่อช่วยให้คำแนะนำที่มีประโยชน์ต่อลูก มันเป็นเรื่องจริงที่ว่าถ้าลูกเราต้องการโตขึ้นเป็น “คนขับรถขนส่ง” มันก็คือความฝันที่แทบเป็นไปไม่ได้ ไม่ว่าจะพยายามขนาดไหนก็ตาม … การที่พ่อแม่ความรู้มากขึ้นจะทำให้แนะนำลูก ๆ ได้ถึงอาชีพที่จะหายไปได้อีกมาก ผมคิดว่าเด็กเค้า “คู่ควร” ที่จะได้รับคำแนะนำเหล่านี้ ก่อนที่เค้าจะไปเสียใจชั่วชีวิตในภายหลัง

ผมคิดว่าสิ่งที่ดีที่สุดที่เราทำได้คือ เปิดตาให้กว้าง ศึกษาเรื่องเทคโนโลยีให้เยอะ หาโอกาสที่จะนำมันมาเสริมสร้างงานเราเอง อาจจะเริ่มจากงานที่เราทำประจำอยู่ก็ได้ หรือศึกษาว่างานอะไรที่เราควรจะหลีกเลี่ยงนั่นเป็นงานที่เรากำลังทำอยู่หรือเปล่า? อย่างไรเสียหากเราต้องแก้ไขอะไร เริ่มเตรียมตัวเสียแต่เนิ่น ๆ ก็ย่อมลดผลกระทบได้มากที่สุด และยังรักษาทางเลือกดี ๆ ไว้ให้ตัวเองด้วย

สิ่งที่แย่ที่สุดที่เราทำได้คือ “กีดกัน” และ “ปิดตัวเอง” เพราะว่าเราหยุดมันไม่ได้ ถ้าทุก ๆ คนนำมันเข้ามาใช้งาน เสริมศักยภาพการทำงานของตัวเองแล้ว เราจะไปสู้เขาได้อย่างไร? มีแต่คนที่รู้เทคโนโลยีเท่านั้นที่จะเอามันมาใช้ให้เกิดประโยชน์ และคนที่ไม่รู้ก็คือคนที่เสียเปรียบ

เราอยู่ในยุคที่การศึกษาไม่ใช่เรื่องยาก และการเรียนรู้ตลอดชีวิตเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง ถ้าหากว่าเราคิดว่าต้องเปลี่ยนสาย หรือว่าจะต้อง “อัพเกรด” ตัวเอง ทางเลือกในการศึกษาก็ยังมีมาก โอกาสเราก็ยังมีมาก แต่ถ้าเราปิดหูปิดตาแล้วน่าเสียดายที่เราเห็นโอกาสแต่ไม่ได้คว้าเอาไว้